การเตรียมขบวนเรือพระราชพิธีในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

Release Date : 01-12-2019 00:00:00

 

การเตรียมขบวนเรือพระราชพิธีในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

 

 

การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่โบราณกาลมา นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทางบก ที่เรียกว่า พยุหยาตราทางสถลมารค แล้ว การเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ คือ พยุหยาตราทางชลมารค ก็เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญยิ่งเช่นกัน ตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยเป็น ราชธานีของไทยเรา ปรากฏว่าพระร่วงทรงเรือออกไปลอยกระทงหรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระกลางน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามเพ็ญเดือนสิบสอง ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีซึ่งเป็นเมืองเกาะล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลองมากมายหลายสาย ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุงเก่าจึงต้องอาศัยเรือ ในการสัญจรไปมา รวมทั้งในเวลารบทัพจับศึกก็จะใช้กระบวนทัพเรือเป็นสำคัญ จึงปรากฏว่ามีการสร้างเรือรบมากมายในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ในเวลาบ้านเมืองปราศจากศึกสงครามได้ใช้เรือรบฝึกซ้อมกระบวนยุทธ์กันเป็นนิจ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงฤดูน้ำหลากอันเป็นเวลาที่ราษฎรว่างจากการทำนา จึงเรียกระดมพลมาฝึกซ้อมกระบวนทัพเรือโดยอาศัยฤดูกาลประจวบกับเป็นช่วงของประเพณีการทอดกฐิน พระเจ้าแผนดินจึง เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนเรือรบแห่แหน เพื่อให้ไพรพลได้รื่นเริงในการกุศล จึงจัดเป็นประเพณีที่แห่เสด็จกฐิน

นอกจากนั้นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในอดีต ยังได้จัดในคราวที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งส่วนพระองค์และที่เป็นพระราชพิธีตลอดจนโอกาสสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท การอัญเชิญ พระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองเข้าประดิษฐานในเมืองหลวง การต้อนรับทูตต่างประเทศ เป็นต้น

ตามที่มีประกาศสํานักพระราชวัง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้มีการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในช่วงการพระราชพิธีทรงบําเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ปลายปี พ.ศ.2562 นั้น ถือเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย และการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดังนั้น รัฐบาลได้มอบภารกิจในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ให้กองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีผู้บัญชาการทหารเรือ เป็น ประธานอนุกรรมการ และมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ เช่น กรมศิลปากร กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร เป็นตอน นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการในพระองค์เป็นที่ปรึกษาและอนุกรรมการ คอยให้คําปรึกษาและข้อแนะนําการปฏิบัติต่าง ๆ ให้แก่คณะอนุกรรมการ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้จัดเตรียมเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น จํานวน 52 ลํา โดยมีเรือที่สําคัญเป็นเรือพระที่นั่งได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือ ทรงผ้าไตร เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรองนอกจากนี้ ยังมีเรือพระราชพิธีอื่นด้วยเช่น เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เป็นต้น สําหรับกําลังพลประจําเรือพระราชพิธี ได้คัดเลือกกําลังพลจากหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือ จํานวน 2,200 นาย เป็นกําลังพลประจําเรือพระราชพิธี ทั้งนี้ การจัดรูปขบวนจัดตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการโดยจัดรูปขบวนเรือแบ่งออกเป๋น 5 ริ้ว 3 สาย

 

 

ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 

และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เป็นเรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

 

ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก 

 

ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 52 ลำ

 เรือพระราชพิธี จํานวน 52 ลํา ซึ่งเรือทุกลําทำจากไม้ มีอายุในการสร้างมาก โดยเฉพาะเรือพระที่นั่ง ทั้ง 3 ลํา มีอายุมาก กล่าวคือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างในรัชกาลที่ 5 มีอายุกว่า 102 ปี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างในรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จสิ้นในรัชกาลที่ 6 มีอายุ 108 ปี เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างในรัชกาลที่ 6 มีอายุ 95 ปี ส่วนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2539 มีอายุ 23 ปี ส่วนเรืออื่น ๆ ในขบวน โดยเฉพาะเรือรูปสัตว์แต่ละลํา มีอายุการสร้างนับร้อยปี 

ในการนี้กองทัพเรือจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการซ่อมทําบูรณะเรือพระราชพิธี โดยแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนการซ่อมตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ โดย กรมอู่ทหารเรือ และส่วนการตกแต่งตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ปัจจุบันได้ดำเนินการซ่อมบูรณะเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำอยู่ในสภาพพร้อมที่เข้าร่วมพระราชพิธีฯ ในครั้งนี้ ซึ่งในวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 จะได้ดำเนินการประกอบพิธีบวงสรวงเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ จำนวน ๑๔ ลำ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และโรงเรือพระราชพิธีท่าวาสุกรี จากนั้นวันที่ 12 - 23 กรกฎาคม 2562 จะเชิญเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ลงน้ำ และลากจูงเรือเข้าเก็บที่อู่ทหารเรือธนบุรี เพื่อเตรียมงานพระราชพิธี

ด้านกําลังพลประจําเรือพระราชพิธี ได้คัดเลือกกําลังพลจากหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือ จํานวน 2,200 นาย เป็นกําลังพลประจําเรือพระราชพิธี ซึ่งเป็นกําลังพลของกองทัพเรือทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นกําลังพลที่ไม่เคยเป็นกําลังพลประจําเรือพระราชพิธีมาก่อน และได้มีการฝึกซ้อมมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยปัจจุบันได้รับการฝึกความคุ้นเคยกับเรือภายในหน่วยเสร็จสิ้นแล้ว ต่อไปจะเป็นการฝึกซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2562  เป็นต้นไป โดยเป็นการฝึกซ้อมการเข้ารูปขบวน และการเดินทางเป็นรูปขบวนเดินทางตามลําดับ เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงของเรือในขบวนเรือพระราชพิธี มีกําหนดการซักซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแผนการซ้อม จํานวน 10 ครั้ง แบ่งเป็นการซ้อมย่อย จํานวน 8 ครั้ง และซ้อมใหญ่ จํานวน 2 ครั้ง เป็นการซ้อมเสมือนวันพระราชพิธีฯ เพื่อให้มีความพร้อมที่ปฏิบัติงานในวันพระราชพิธีฯ กำหนดเป็นวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้ เส้นทางเสด็จพระราชดําเนิน ที่ได้เตรียมไว้เป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ เส้นทางจากท่าวาสุกรี ถึง วัดอรุณราชวราราม