สมุดปกขาว กลาโหมญี่ปุ่น 2021

Release Date : 26-10-2021 12:04:22

สมุดปกขาว กลาโหมญี่ปุ่น 2021

การเสริมสร้างกำลังอำนาจทางทะเลของญี่ปุ่นและผลกระทบต่อภูมิภาค

--------------------------------------------

บทนำ

          นับตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีบทบาทในด้านความมั่นคงระหว่างประเทศมากนัก นโยบายด้านการทหารของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นแบบลดบทบาท กล่าวคือเมื่อเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งที่อาจส่งผลต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ญี่ปุ่นจะอ้างเรื่องข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ และไม่เข้าไปมีบทบาทหรือมีบทบาทเฉพาะการสนับสนุนทางการเงินเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ด้านความมั่นคงของญี่ปุ่น เกิดขึ้นภายหลังนายชินโซะ อาเบะ ชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ยาวนาน รัฐบาลเลือกที่จะไม่กำหนดนโยบายแบบเดิม แต่ผลักดันให้ญี่ปุ่นมีบทบาทในประเด็นการธำรงค์ไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศด้วยการประกาศนโยบายสนับสนุนสันติภาพเชิงรุก (Proactive Contribution on Peace) ส่งผลให้มีการปรับโครงสร้างด้านความมั่นคงครั้งใหญ่และการตีความในรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นสามารถใช้สิทธิ์การป้องกันร่วม (Collective Self Defense) เพื่อปกป้องชาติพันธมิตรทางทหารของญี่ปุ่นได้ นับเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถเสริมสร้างกำลังทางทหารและมีการขยายบทบาททางทหารในระดับนานาชาติอย่างรวดเร็ว

สภาวะแวดล้อมความมั่นคงทางทะเลของญี่ปุ่น

สถานการณ์ความมั่นคงในปัจจุบัน สมุดปกขาวด้านกลาโหม ปี ๒๕๖๔ (2021 Defense of Japan) ได้ระบุปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงทางทะเลของญี่ปุ่นในภาพรวม 3ประการได้แก่ ประการแรกการเสริมสร้างอำนาจทางทหารของจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ประการต่อมา การขาดกรอบความร่วมมือในการแก้ปัญหาดั้งเดิมที่เกี่ยวกับข้อพิพาทดินแดน และประการสุดท้าย ความเสี่ยงที่เกิดจากการขยายความรุนแรงในพื้นที่โดยเฉพาะกำลังทางเรือและอากาศที่จะกระทบต่อความมั่นคงทางทะเลญี่ปุ่น

สหรัฐอเมริกาสหรัฐฯ เป็นชาติมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวมาโดยตลอด ได้เริ่มให้ความสนใจภูมิภาคเอเชียอย่างจริงจังในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี Donald Trump เมื่อ ๑๘ ธ.ค.๖๐ ได้ประกาศยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติในการรับมือกับความท้าทายที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญ ได้แก่ มหาอำนาจเกิดใหม่ เช่น จีน รัสเซีย ซึ่งกำลังกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ ต่อมาได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ใน พ.ย.๖๑ โดยมีเป้าหมายในการรักษาบทบาท อิทธิพลของตนด้านความมั่นคงในพื้นที่ ๒ มหาสมุทรคือ มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยการชูประเด็นการรักษาสันติภาพ เสรีภาพในการเดินเรือและการบิน รวมทั้งกฎระเบียบระหว่างประเทศ เพื่อความชอบธรรมในการคานอำนาจและปิดล้อมจีน ทั้งนี้สมุดปกขาว ปี ๖๔ ยังระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลสมัยประธานาธิบดี Donald Trump ไม่ยอมรับการใช้กำลังแต่เพียงฝ่ายเดียวของจีนในการแก้ปัญหาในทะเลจีนใต้หรือพื้นที่อื่น สหรัฐฯ ได้ส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบิน จำนวน ๒ กองเรือ ลาดตระเวณผ่านทะเลจีนใต้ เพื่อพิสูจน์แนวคิดเสรีภาพในการเดินเรือหรือการบิน Freedom of Navigation Operation ต่อมาในสมัยประธานาธิบดี Joe Biden ยังยึดหลักยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ตามแนวคิดเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ได้รับการตอบรับจากพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ อย่างกว้างขวาง

จีนจีนกำหนดยุทธศาสตร์ทางทะเล เพื่อบรรลุถึงการเป็นมหาอำนาจทางทะเล มุ่งเน้นพัฒนาในหลายด้าน โดยเฉพาะกำลังทางเรือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และการผลักดันวิสัยทัศน์ความร่วมมือภายใต้ BRI (Belt and Road) ในการขยายบทบาททั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ญี่ปุ่นกับจีนมีข้อพิพาททางทะเลกรณีการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku Islands) หรือหมู่เกาะเตียวหยู (Diaoyu Islands) ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งหมู่เกาะดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของญี่ปุ่น มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ และตั้งแต่เดือน ต.ค.๖๓ ญี่ปุ่นได้ยกสถานะหมู่เกาะเซนกากุเป็นเขตปกครองท้องถิ่นเทียบเท่าระดับตำบล จีนแสดงความไม่พอใจและยืนยันว่าหมู่เกาะเซนกากุเป็นของจีน และขอให้ญี่ปุ่นรักษาหลักฉันทามติเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น ญี่ปุ่นเห็นว่าที่ผ่านมาจีนพยายามใช้กลยุทธ์ Gray Zone Operations ซึ่งเป็นการสร้างความตึงเครียดที่ต่ำกว่าระดับสงคราม ไม่นำไปสู่การปะทะด้วยกำลังทางทหาร แต่หลังจากการเปลี่ยนหน่วยยามฝั่ง (China Coast Guard) จากเดิมที่อยู่ในกำกับของคณะบริหารจัดการสมุทรศาสตร์แห่งชาติ (Staff Oceanic Administration) ไปอยู่ใต้การกำกับโดยตรงของคณะกรรมการทหารกลางของจีน (China Central Military Commission) และใน ก.พ.๖๔ จีนได้ออกกฎหมายให้เรือของหน่วยยามฝั่งสามารถใช้อาวุธได้ ทำให้เกิดการบุกรุกเข้าในเขตน่านน้ำรอบเกาะเซนกากุอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบสถิติมากสุด ๓๓๓ วัน จำนวน ๑,๑๖๑ ลำ สมุดปกขาวไม่ได้ระบุว่าจีนเป็นภัยคุมคามต่อความมั่นคงของญี่ปุ่น แต่การพยายามฝ่ายเดียวของจีนในการมุ่งเปลี่ยนสถานะปัจจุบัน( Status Quo )โดยการใช้อาวุธในบริเวณหมู่เกาะ Senkaku ถูกระบุว่าเป็นปัญหาในข้อกฏหมายระหว่างประเทศ และญี่ปุ่นไม่ยอมรับที่จะให้มีการขยายความรุนแรงทั้งในพื้นที่ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกเพิ่มมากขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ จีน และไต้หวัน

การแข่งขันอิทธิพลทางทะเลระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้ขยายครอบคลุมในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร โดยมีแนวโน้มจะมีการแข่งขันในด้านเทคโนโลยีทางทหารเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค Indo-Pacific โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก สำหรับจีนแล้ว ทะเลจีนใต้เป็นส่วนสำคัญของเส้นทางสายใหม่ เป็นทะเลซึ่งจีนจะต้องครอบครอง เพื่อควบคุมเส้นทางเดินเรือสำหรับลำเลียงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติป้อนโรงงานอุตสาหกรรมของตน ส่วนสหรัฐฯ ต้องการเดินเรืออย่างเสรีในทะเลจีนใต้ เพราะกองทัพเรือสหรัฐฯ มีพื้นที่ปฏิบัติการทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิคและมหาสมุทรอินเดีย หากจีนยึดครองจะทำให้สหรัฐฯ สูญเสียอิทธิพลในภูมิภาคได้ จึงระบุว่าจีนปฏิบัติผิดหลักกฎหมายทะเล พร้อมทั้งปฏิบัติการ Freedom of Navigation Operation อย่างต่อเนื่องสำหรับไต้หวัน สมุดปกขาวระบุว่า ผบ.กกล.สหรัฐฯ ภาคพื้น Indo-Pacific ได้กล่าวในสภาสหรัฐฯ ว่า การแข่งขันอิทธิพลในภูมิภาค Indo-Pacific ไม่อยู่ในสถานะพึงประสงค์ จีนกำลังกระทำการแต่ฝ่ายเดียวในการเปลี่ยนแปลงสภาวะปกติ และคาดว่าความทะเยอทยานเกี่ยวกับไต้หวันของจีนจะปรากฎชัดใน ๖ ปี สื่อนัยยะว่า จีนจะยึดครองไต้หวันในเวลาอันใกล้ ทำให้ญี่ปุ่นแสดงความกังวลเนื่องจากหมู่เกาะตอนใต้ติดกับไต้หวันและเห็นว่าความปลอดภัยของไต้หวัน ไม่เพียงจะมีความสำคัญต่อความมั่นคงญี่ปุ่นเท่านั้น ยังมีความสำคัญต่อเสถียรภาพประชาคมระหว่างประเทศอีกด้วย นับเป็นการแสดงท่าทีที่ไม่เคยเป็นมาก่อนของญี่ปุ่น

 

รัสเซีย

ญี่ปุ่นกับรัสเซียมีข้อพิพาทกรณีการอ้างสิทธิ์ทางทะเลเหนือ “ดินแดนทางตอนเหนือ” (Northern Territories) หรือ หมู่เกาะคูริลกับรัสเซีย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่สหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าหากสหภาพโซเวียตเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร สหรัฐฯ จะยกหมู่เกาะคูริลให้แก่สหภาพโซเวียต และเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม สหภาพโซเวียตจึงได้ใช้โอกาสดังกล่าวครอบครองหมู่เกาะคูริล ทำให้ญี่ปุ่นไม่ยอมลงนามข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงครามกับรัสเซีย แม้ต่อมาภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นและรัสเซียได้พยายามเจรจาต่อรองเพื่อหาทางบรรลุปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีท่าทีและนโยบายที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยญี่ปุ่นต้องการให้มีการเจรจาเรื่องหมู่เกาะก่อนที่จะลงนามในข้อตกลงสันติภาพระหว่างกัน แต่รัสเซียต้องการให้ญี่ปุ่นลงนามในข้อตกลงสันติภาพยอมรับสถานะของตนเองในฐานะผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ ๒ และยอมรับอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเหนือหมู่เกาะคูริลก่อนการเจรจาใดๆ สถานการณ์ด้านการทหารในปัจจุบัน สมุดปกขาว ปี ๖๔ ระบุว่า รัสเซียกำลังพัฒนาอาวุธ Hypersonic และติดตั้งระบบอาวุธพื้นสู่อากาศ S – 300V4 บนเกาะ Etorofu และเกาะ Kunashisi ตั้งแต่ ธ.ค.๖๓

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีความกังวลเกี่ยวกับความร่วมมือทางทหารระหว่างจีนและรัสเซียด้วย เนื่องจากประธานาธิบดีปูติน ได้กล่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการทหารกับจีนว่าในทางทฤษฎีแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นพันธมิตรด้านการทหารกัน ซึ่งเมื่อเดือน ก.ค.๖๒ บ.ทิ้งระเบิดระยะไกล Tu-95 จำนวน ๒ เครื่อง ของ ทอ.รัสเซีย ทำการลาดตระเวนร่วมทางอากาศกับ บ.ทิ้งระเบิด H-6 จำนวน ๒ เครื่อง ของ ทอ.จีน ในเส้นทางจากทะเลญี่ปุ่นไปยังทะเลจีนตะวันออก นอกจากนี้ กห. ทั้งสองฝ่ายยังได้มีการลงนามความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางทหารระหว่างกันเป็นเวลา
๑๐ ปี ตั้งแต่ ธ.ค.๖๓ ด้วย

เกาหลีเหนือ

          สมุดปกขาวญี่ปุ่นระบุชัดว่า กล.น.เป็นประเทศที่นับเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของญี่ปุ่น โดย กล.น.ยังคงมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธอย่างต่อเนื่ง ในห้วง ๒ - ๓ ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยใกล้ ที่สำคัญ ได้แก่ ขีปนาวุธที่ติดตั้งกับเรือดำน้ำ (Submarine - Launched Ballistic Missile: SLBM) รุ่น Pukguksong-3 ที่ได้มีการทดสอบยิงครั้งล่าสุด เมื่อเดือน ต.ค.๖๒ ล่าสุด เมื่อ ๒๕ มี.ค.๖๔ เกาหลีเหนือได้มีการทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ จำนวน ๒ ลูก ตกลงสู่ทะเลญี่ปุ่น แต่ไม่มีชิ้นส่วนของขีปนาวุธเข้าไปในน่านน้ำอธิปไตยของญี่ปุ่น หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า เป็นการส่งสารถึงรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาค นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเชื่อว่าเกาหลีเหนือกำลังพยายามพัฒนาขีปนาวุธที่มีพิสัยยิงไกลมากขึ้น รวมทั้ง มีความเป็นไปได้ว่าเกาหลีเหนืออาจกำลังดำเนินการต่อเรือดำน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถติดตั้งขีปนาวุธ (SLBM) รุ่น Pukguksong-4 และ รุ่น Pukguksong-5 ได้

การตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมของญี่ปุ่น

                 ท่ามกลางสภาะแวดล้อมที่ไม่แน่อนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นจำเป็นต้องดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และความหวาดระแวงการปฏิบัติการทางเรือของจีนบริเวณหมู่เกาะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น โดยดำเนินการในลักษณะเผื่อเหลือเผื่อขาดดังนี้

การร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐ

             ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับสหรัฐในฐานะพันธมิตรดั้งเดิมที่เหนียวแน่นกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่2 เนื่องจากในสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน ปี1952(US-Japan Security Treaty) ใจความสำคัญระบุว่าหากญี่ปุ่นถูกต่างชาติรุกราน สหรัฐมีพันธะที่จะต้องช่วยญี่ปุ่นในการป้องกันประเทศ จึงนับเป็นวิธีป้องปรามการขยายอิทธิพลของจีนอย่างได้ผล โดยเฉพาะในประเด็นข้อพิพาทหมู่เกาะเซงกะคุที่ญี่ปุ่นถือว่าเป็นเขตการปกครองของโอกินาวา ก็จะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากสหรัฐ ตามมาตรา5ของสนธิสัญญาด้วย นอกจากนี้ความร่วมมือตามข้อตกลงการรักษาข้อมูลทางทหารร่วม (General Security of Military Information Agreement - GSOMIA) ระหว่างสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ช่วยให้ญี่ปุ่นได้รับข้อมูลข่าวสารในการรับมือจากขีปนาวุธของเกาหลีเหนือได้

การเสริมสร้างกองทัพ

             ญี่ปุ่นพึ่งพาตนเองโดยการเสริมสร้างความสามารถทางทหารมาอย่างต่อเนื่อง โดย เห็นได้จาก กห.ญี่ปุ่น ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี ๒๕๖๔ จำนวน ๕.๑๒ ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ๑.๑ % ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันเป็นปีที่ ๙ ติดต่อกัน ในส่วนของ JMSDF ได้รับการจัดสรร งบประมาณประจำปี ๒๕๖๔ จำนวน ๑.๓ ล้านล้านเยน มากกว่าปีที่ผ่านมา ๑๒.๙ % ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่มากที่สุดใน3เหล่าทัพ การพัฒนากำลังทางเรือที่สำคัญของ JMSDFตามที่ระบุไว้ในสมุดปกขาวด้านกลาโหม ได้แก่

- การปรับปรุงเรือพิฆาตบรรทุก ฮ. ชั้น Izumo จำนวน ๒ ลำ ได้แก่ JS Izumo และ JS Kaga ให้สามารถนำบ.F35B ขึ้นลงจอดบนเรือได้ ให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๙ โดยญี่ปุ่นมีแผนจัดซื้อ บ.F-35B จาสหรัฐ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ จำนวน ๒ เครื่อง คาดว่าจะได้รับมอบภายในต้นปี ๒๕๖๗ ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะใช้งานเรือพิฆาตบรรทุก ฮ.เป็นฐานบินลอยนำ้เพื่อเพิ่มระยะปฏิบัติการบินของ บ.F-35B ได้นานและไกลขึ้น จากนั้นจะค่อยๆพัฒนาการใช้งานให้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่สมบูรณ์แบบในอนาคตต่อไป

- โครงการต่อเรือพิฆาตติดตั้งระบบ AEGIS จำนวน ๒ ลำ ทดแทนระบบ AEGIS ภาคพื้นดิน (AEGIS Ashore) ที่ถูกยกเลิกไป เมื่อเดือน มิ.ย.๖๓ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบต่อต้านขีปนาวุธ จาก กล.น.(Balastic Missile Defense;BDM Operations)

-การเพิ่มขีดความสามารถปฏิบัติการในหมู่เกาะห่างไกล (Remote Islands) โดยเมื่อเดือน ก.พ.๖๔ กห.ญี่ปุ่น ระบุว่า กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นมีแผนจะจัดตั้งหน่วยเรือสนับสนุน จำนวน ๓ ลำ ประกอบด้วย เรือส่งกำลังบำรุงขนาดกลาง จำนวน ๑ ลำ และเรือระบายพลขนาดใหญ่ จำนวน ๒ ลำ ภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ เพื่อลำเลียงกำลังพลไปยังหมู่เกาะห่างไกล โดยเฉพาะหมู่เกาะต่างๆทางฝั่งตะวันตกของ จว.โอกินาวะ เพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลทางทะเลของจีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเตรียมกำลังไว้เพื่อปฏิบัติการยกพลขึ้นบกกรณีหมู่เกาะเซงกะคุถูกยึดไปโดยจีน ปัจจุบันกองกำลังป้องกันตนเองทางบกส่งกำลังพลไปสังเกตการที่เกาะมิยาโกะ เกาะอามามิ และเกาะโอชิมะ และในอนาคตมีแผนจะส่งกำลังพลไปประจำการที่เกาะอิชิงากิด้วย ส่วนกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศมีแผนจะนำ บ.F-35B เข้าประจำการที่ฐานทัพอากาศ Nyutabaru ทางตอนใต้ของ จว.มิยาซากิ เพื่อเตรียมปฏิบัติการบินไปในหมู่เกาะห่างไกล โดยฐานทัพอากาศดังกล่าวอยู่ห่างจากเกาะเซนกากุ ประมาณ ๑,๐๓๐ กม.

การร่วมมือกับชาติพันธมิตรอื่น

           สมุดปกขาวด้านกลาโหม ปี ๒๕๖๔ ระบุว่า กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยมีส่วนร่วมในการฝึกอบรมการรักษาสันติภาพ ภารกิจบรรเทาภัยพิบัติ และการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ ในเชิงรุก รวมถึงยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก ที่เปิดกว้างและเสรี (Free and Open Indo - Pacific Strategy) ความร่วมมือที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงทางทะเลของญี่ปุ่นในปัจจุบัน คือ การที่ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งใน ๔ ชาติสมาชิกกลุ่มความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ Quadrilateral Security Dialogue (QUAD) ร่วมกับสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอินเดีย เพื่อถ่วงดุลการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้จากกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นได้ร่วมฝึกทางทะเลกับชาติสมาชิกอย่างต่อเนื่อง

พันธมิตรจากทวีปยุโรป

             กห.ญี่ปุ่นได้แสวงหาพันธมิตรที่มีอุดมการร่วมกันเพิ่มเติม ประเทศที่ตอบรับความร่วมได้แก่ ฝรั่งเศล อังกฤษ และเยอรมัน เห็นได้จากการรส่งกองเรือเข้ามาร่วมฝึกกับกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ในพื้นที่ทะเลจีนตะวันออก ภายใต้ยุทธศาสตร์Indo-Pacificของแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นส่วนสำคัญทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐการปฎิบัติที่สำคัญได้แก่

-ทร.ฝรั่งเศส ส่งเรือรบเข้าร่วมการฝึกทางทะเลแบบพหุภาคี รหัส La Perouse (เป็นการฝึกระหว่างการปฏิบัติการ Mission Jeanne d’Arc ของ ทร.ฝรั่งเศส เป็นเวลา ๕ เดือน ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกร่วมกับ ทร. ประเทศกลุ่ม QUAD โดยมี ทร.ฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพการฝึก ในพื้นที่อ่าวเบงกอล ระหว่าง ๕ - ๗ เม.ย.๖๔ และการฝึกในทางทะเลทางตอนใต้ญี่ปุ่นระหว่าง ๑๑ - ๑๗ พ.ค.๖๔ โดยมุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก นับเป็นการเสริมสร้างยุทธิวิธีทางเรือและทักษะร่วมกันในการปฏิบัติการในพื้นที่หมู่เกาะห่างไกล

-ทร.สหราชอาณาจักร ส่งหมู่เรือบรรทุก บ.HMS Queen Elizabeth ประกอบด้วย เรือบรรทุก บ.HMS Queen Elizabeth เรือฟริเกต ชั้น Duke เรือพิฆาต ชั้น Daring และเรือน้ำมัน ชั้น Tide พร้อมด้วย บ.F-35B และ ฮ.Merlin HM2 ไปวางกำลังใกล้กับน่านน้ำของญี่ปุ่น โดย ทร.สหราชอาณาจักร จะทำการซ่อมบำรุง บ.F-35B ที่บริษัท Mitsubishi Heavy Industries ของญี่ปุ่น รวมทั้งยังมีแผนจะฝึกทางทะเลร่วมกับกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น และ ทร.สหรัฐฯ ในบริเวณน่านน้ำหมู่เกาะนันเซ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น

- ใน ๓ส.ค.๖๔ ทร.เยอรมนี ได้ส่งเรือฟริเกต Bayern มายังน่านน้ำญี่ปุ่น เพื่อ แสดงออกถึงเสรีภาพในการเดินเรือและเพิ่มบทบาทของเยอรมันในภูมิภาคเอเซียโดยมีระยะเวลาปฎิบัติการ ๖ เดือนเยอรมนี โดยมีการลาดตระเวนร่วมกับกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นเพื่อเฝ้าระวังการลักลอบค้าระหว่างเรือในทะเลแบบ ship-to-ship ของเกาหลีเหนือด้วย

 

 

ASAEN

                 ความสัมพันธ์ทางทหารของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในด้านการรักษาความมั่นคงทางทะเลนั้น นับว่ามีความใกล้ชิดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นรัฐชายฝั่งช่องแคบมะละกา โดยญี่ปุ่นได้ก่อตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธในเอเชีย (ReCAAP : Reginal Cooperation Agreement on Combating Piracy and Armed Robbery) เพื่อรักษาความมั่นคงในช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ที่สำคัญของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและอินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนใต้ด้วย ล่าสุด เมื่อเดือน มี.ค.๖๔ ญี่ปุ่นได้ลงนามข้อตกลงการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทหารกับอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีการต่อเรือดำน้ำ และอินโดนีเซียกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจัดหาเรือฟริเกต ชั้น Mogami จำนวน ๘ ลำ จากญี่ปุ่น 

 

ข้อพิจารณา

๑. สถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนตะวัน ถือเป็นวิกฤตและโอกาสของญี่ปุ่นในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ โดยได้รับการยอมรับจากประชาชน มากขึ้น เนื่องจากประชาชนเห็นว่ามีเหตุผลเพียงพอและเข้าใจถึงความจำเป็นของการมีหน่วยงานทางทหารเพื่อปกป้องผลประโยช์ของชาติ

๒.  การที่ญี่ปุ่นเป็นชาติพันธมิตร (U.S. Treaty Allies) ที่สำคัญของสหรัฐฯ ทำให้การดำเนินยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก ของสหรัฐฯ ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นด้วย ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศเป้าหมายในการเสริมสร้างความร่วมมือที่สำคัญของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ในการแผ่ขยายอิทธิพลของตนเองมายังภูมิภาคเอเชีย โดยมีน่านน้ำทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ เป็นพื้นที่แข่งอิทธิพลที่สำคัญ ญี่ปุ่นจึงเปรียบเสมือนศูนย์กลางในการปฏิบัติการและเป็นฐานส่งกำลังบำรุงของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในระหว่างการปฏิบัติการในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก

๓.  ในส่วนประเทศไทย การขยายกำลังอำนาจทางทะเลของญี่ปุ่นยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศคู่ขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนใต้ แต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเหล่าทัพมาเป็นเวลานาน มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บังคับบัญชา การสนับสนุนการศึกษาหลักสูตรทางทหาร การฝึกทางทะเล ความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุงในฐานทัพท่าเรือและการประชุมแลกเปลี่ยนข่าวสาร (IEC) อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นเหล่าทัพอาจต้องมีปฏิสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่โอกาสในการแสวงประโยชน์จากเทคโนโลยีของญี่ปุ่นเพื่อการพัฒนากองทัพต่อไปได้ ในระดับประเทศ กรณีที่ญี่ปุ่นมีการขยายบทบาททางทหารในด้านต่าง ๆ ในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น หากเป็นนโยบายที่สร้างสรรค์ และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งใด ๆ ไทยเราควรให้การสนับสนุนบทบาทดังกล่าว ภายใต้ความสมดุลกับประเทศอื่น ๆ อย่างเหมาะสมต่อไป

-----------------------------